คราวที่แล้วเราได้พูดถึงว่า NLP (Neuro-Linguistic Programming) คือแนวคิดและเทคนิคในการเข้าใจกระบวนการคิดของมนุษย์ ซึ่งเมื่อนำมาประยุกต์ใช้ก็จะทำให้ผู้ที่เข้าใจหลักการสามารถเปลี่ยนได้ทั้งการคิดและพฤติกรรมของตัวเองและผู้อื่น
นี่คือนิทานเรื่องที่ 2 ที่ Joseph O’Connor ใช้ในการอธิบายเทคนิคต่างๆของ NLP ผมชอบนิทานเรื่องนี้เป็นการส่วนตัวมากครับ คิดตามแล้วหัวตื้อๆดี
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีผู้รู้คนหนึ่งขี่อูฐเดินทางผ่านหมู่บ้านทะเลทรายช่วงพลบค่ำ หลังจากการเดินทางมานานทำให้ผู้รู้กระหายน้ำมากจึงขอน้ำดื่มจากชาวบ้าน
“ได้เลยครับ” หนุ่มชาวบ้านตอบก่อนเอาน้ำให้ผู้รู้ดื่ม
ผู้รู้ดื่มน้ำจนชื่นใจแล้วกล่าวว่า “ขอบใจมาก มีอะไรให้ฉันช่วยก่อนที่ฉันจะเดินทางต่อมั้ย”
“ไม่รู้ว่าท่านจะช่วยได้มั้ย” ชายหนุ่มตอบ “ที่บ้านผมตอนนี้มีเรื่องทะเลาะกันใหญ่โต ผมน่ะเป็นน้องคนเล็กสุดในบรรดาพี่น้อง 3 คน พ่อของเราพึ่งเสียได้ไม่นาน เหลือฝูงอูฐ 17 ตัวไว้ให้เป็นมรดกกับลูกๆ ในมรดกพ่อเขียนไว้ว่า หนึ่งในสองของฝูงยกให้พี่ชายคนโต หนึ่งในสามของฝูงยกให้พี่ชายคนรอง และหนึ่งในเก้าของฝูงยกให้ผม” ชายหนุ่มพูดแบบกลุ้มๆ “แต่เราแบ่งฝูงอูฐทั้ง 17 ตัวแบบที่เขียนไว้ในมรดกได้ไม่ลงตัว เราไม่อยากเชือดอูฐเพื่อเอามาแบ่งส่วนกัน อูฐเป็นๆมีค่ามากกว่าเยอะ”
“พาเราไปที่บ้านเจ้าหน่อยซิ” ผู้รู้บอกกับชายหนุ่ม
เมื่อถึงบ้านของชายหนุ่ม ผู้รู้เห็นทั้งครอบครัวนั่งอยู่รอบกองไฟ ทะเลาะกันขโมงโฉงเฉง น้องชายคนเล็กบอกให้ทุกคนเงียบหน่อยแล้วแนะนำผู้รู้ให้ครอบครัวเขารู้จัก
“รอเดี๋ยวนะ ผมว่าผมช่วยพวกคุณได้” ผู้รู้บอก “เอางี้ละกันผมให้อูฐของผมเป็นของขวัญกับครอบครัวคุณ เท่ากับว่าคุณมีอูฐอยู่ด้วยกัน 18 ตัว หนึ่งในสองยกให้พี่คนโต เท่ากับ 9 ตัว หนึ่งในสามยกให้พี่คนรอง เท่ากับ 6 ตัว หนึ่งในเก้ายกให้กับเพื่อนของผม ลูกชายคนเล็ก เท่ากับ 2 ตัว”
“9 + 6 + 2 เท่ากับ 17 ตัวเองนี่ครับ” ชายหนุ่มกล่าว
“โชคดีจัง ตัวที่เหลืออยู่คืออูฐตัวที่ฉันให้เป็นของขวัญกับครอบครัวคุณเมื่อกี๊นี้เอง งั้นฉันขอคืนละกัน จะได้ออกเดินทางต่อ” แล้วผู้รู้ก็เดินทางออกจากหมู่บ้านนี้ไป
เราสามารถเปรียบ NLP เสมือนเป็นอูฐตัวที่ 18 เป็นเครื่องมือที่ผู้รู้นำมาใช้แก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว ก่อนที่จะหายไปเหมือนกับว่า มันไม่เคยอยู่ตรงนั้นตั้งแต่แรก
Recent Comments